ลักลอบค้าสัตว์ป่า : ไม่ซื้อ ไม่ล่า ไม่หามาขาย ไม่เป็นโรคร้าย สัตว์ป่าไม่สูญพันธุ์
ภาพ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ในปัจจุบันมีสัตว์ป่าหลายประเภททั้งที่ถูกขึ้นบัญชีว่าสูญพันธุ์แล้วและใกล้สูญพันธุ์ แต่การลักลอบค้าสัตว์ป่าก็ยังคงดำเนินต่อไปเพราะผลตอบแทนที่มีมูลค่าสูง
การล่าสัตว์ป่าถือเป็นวิถีการดำรงชีพของมนุษย์ที่มีมานานตั้งแต่ยุคโบราณ แต่เหตุที่พึ่งกลายเป็นวิกฤติในช่วง 2 ทศวรรษนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้สัตว์ป่าถูกล่าออกจากป่ามากขึ้นเช่นเดียวกับพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทําการเกษตร ปศุสัตว์ และเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่นไฟฟ้า ประปา และเส้นทางการคมนาคม ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในระบบนิเวศป่าเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงจึงตกเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญของการลักลอบล่าสัตว์ป่าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ทั้งใช้บริโภค ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง เป็นส่วนประกอบของยาแผนโบราณ เป็นสัตว์เลี้ยง
เมื่อการล่าเพื่อยังชีพแปรเปลี่ยนเป็นการล่าเพื่อการค้าจึงทำให้การลักลอบค้าสัตว์ป่าระหว่าง ประเทศ (Wildlife Trafficking) เพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้ประชากรสัตว์ป่าหลายชนิดในธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เช่น ลิ่นจากมาเลเซียหรืออินโดนีเซียที่ถูกส่งไปขายยังประเทศจีน หรือการค้างาช้างที่ส่งผลให้เกิดการล่าช้างเป็นจำนวนมากในทวีปแอฟริกา รวมถึงเต่าและนกสวยงามหลายชนิดที่ถูกลักลอบค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
จากข้อมูลสถิติพบว่าการลักลอบค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศได้กลายเป็นธุรกิจมืดที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกเป็นรองเพียงการลักลอบค้ายาเสพติดและการค้าอาวุธสงครามเท่านั้น
ผลจากการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายและขาดการควบคุมนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์มากขึ้นเห็นได้ชัดเจนจากกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic Diseases)
โดยสัตว์ป่าที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยได้แก่ค้างคาวและลิ้น ซึ่งการบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่ได้มาจากการลักลอบค้าที่ไม่ผ่านกระบวนการควบคุมดูแลด้านสุขอนามัยมีความเสี่ยงโดยตรงที่ควรจะได้รับเชื้อโรคจากสัตว์ป่าเหล่านั้น และมีโอกาสที่เชื้อโรคจะแพร่ระบาดจากคนสู่คน กระจายข้ามประเทศและทั่วโลกในที่สุด ดังนั้นการหยุดล่าและค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายจึงเท่ากับการหยุดโรคร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
สัตว์ป่าคุ้มครอง : เมื่อคนร้ายถูกจับ สัตว์ป่าของกลางไปไหน?
ทั้งนี้ พฤติกรรมของสัตว์ป่าที่คนเคยเลี้ยงมาก่อน จะสูญเสียพฤติกรรมการล่าและการใช้ชีวิตรอดในธรรมชาติ การปล่อยเค้ากลับสู่ธรรมชาติจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด
นอกจากนี้การวิจัยยังพบว่า 71% ของโรคติดต่ออุบัติใหม่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่อีโบลา เมอร์ส ซาร์ส นิปาห์ ล้วนมีที่มาจากสัตว์ป่าทั้งนั้น
ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ระบุว่า
เลี้ยง : คุก 5 ปี หรือปรับ 5 แสนบาท
ค้า : คุก 10 ปี หรือปรับ 1 ล้านบาท
ข้อมูลจาก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
บทความที่เกี่ยวข้อง
-
ไวล์ดเอด ชวนร่วมหยุดยั้งการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เนื่องในวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก
-
เสือดาว ผู้ควบคุมโซ่อาหารแห่งพงไพร
-
ล่อซื้อลูกเสือดาว วัยแค่เดือนเดียวราคาเกือบ 5 แสน เตรียมส่งอินเดีย
-
ลักลอบค้าสัตว์ป่า : ไม่ซื้อ ไม่ล่า ไม่หามาขาย ไม่เป็นโรคร้าย สัตว์ป่าไม่สูญพันธุ์
-
สัตว์ป่าคุ้มครอง : เมื่อคนร้ายถูกจับ สัตว์ป่าของกลางไปไหน?
-
นักอนุรักษ์เตือนเฟสบุ๊ก อาจถูกใช้เป็นแหล่งซื้อขายสัตว์ป่าออนไลน์