ล็อกดาวน์เข้ม ทำฟิลิปปินส์มีเด็กเกิดใหม่เพิ่มกว่า 2 แสนคนในปีหน้า เพราะตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์
Image : EPA
ฟิลิปปินส์จะมีเด็กเกิดใหม่เพิ่มกว่า 2 แสนคนในปีหน้าเพราะตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ อันเป็นผลพวงมาจากการล็อกดาวน์เข้มงวดและความเชื่อทางศาสนา
สถาบันประชากรแห่งมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประเมินว่า ในปีหน้าจะมีทารกราว 214,000 คนถือกำเนิดจากการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากมาตรการล็อกดาวน์เพราะ Covid-19 ที่เข้มงวดของทางการ
มาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ทำให้ผู้หญิงฟิลิปปินส์หลายแสนคนไม่สามารถเข้าถึงบริการและเวชภัณฑ์เพื่อคุมกำเนิดได้ จนส่งผลให้มีการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเด็กๆ เหล่านี้จะคลอดออกมาในโรงพยาบาลต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์ที่ท่วมท้นไปด้วยอัตราการเกิดของประชากรราว 1.7 ล้านคนในแต่ละปี และส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เกิดมาในครอบครัวฐานะยากจน
แต่อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้ฟิลิปปินส์เผชิญกับวิกฤตประชากรล้นประเทศ เพราะหากมองให้ลึกลงไปก็จะเห็นปัญหาที่สะสมมานานหลายปี
ข้อมูลจากปี 2015 ระบุว่า กรุงมะนิลาแออัดไปด้วยประชากรราว 13 ล้านคน หรือโดยเฉลี่ยจะมีประชากรกว่า 70,000 แออัดยัดเยียดอยู่ในพื้นที่ทุก 1 ตารางกิโลเมตร
ความหนาแน่นของประชากรเห็นได้จากสภาพแออัดคับคั่งของการจราจรบนท้องถนนไปจนถึงสภาพในคุกที่มีผู้ต้องขังเกินกว่าความจุของเรือนจำถึง 300% ส่งผลให้นักโทษต้องนอนเบียดเสียดกันไม่ต่างจากปลากระป๋อง
ขณะเดียวกัน คนยากจนก็เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุด บางคนมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นถึงขั้นต้องหาอาหารกินจากกองขยะ
รัฐบาลฟิลิปปินส์ตระหนักถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี และดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดอัตราการเจริญพันธุ์ลงมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 แต่ก็ยังถือว่าประสบความสำเร็จน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธอย่างไทย
ที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกัน เพราะฟิลิปปินส์มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ซึ่งต่อต้านการคุมกำเนิด และส่งเสริมให้คนมีบุตร ดังคำในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า "จงมีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมืองและทวีจำนวนขึ้นจนเต็มโลก"
วิกฤตโควิด-19 ยังเพิ่มภาระด้านการบริหารงบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่อย่างจำกัดของฟิลิปปินส์ ทำให้ไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับใช้ในโครงการตามกฎหมายอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาและการคุมกำเนิดแก่ประชาชน
นอกจากนี้ การดำเนินโครงการตามกฎหมายอนามัยการเจริญพันธุ์ ยังทำให้รัฐบาลถูกฟ้องร้องจากองค์กรของศาสนจักรคาทอลิก ส่งผลให้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศ และไม่สามารถใช้มาตรการคุมกำเนิดในหมู่ผู้เยาว์ได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง
ที่มา BBC thai